โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เริ่มขึ้นเมื่อเดือน มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕ สืบเนื่องมาจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชประสงค์ที่จะสืบสานพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙)

ครั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ที่ทรงมีพระราชดำริให้อนุรักษ์ต้นยางนา อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี  และทรงให้รวบรวมพืชพันธุ์ไม้ของภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ไปปลูกไว้ในสวนจิตรลดา โดยที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงมีพระราชดำริกับเลขาธิการพระราชวังและผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา ให้อนุรักษ์พืชพรรณของประเทศและดำเนินการเป็นธนาคารพืชพรรณ จากนั้นได้จัดสร้างธนาคารพืชพรรณขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๖  โดยฝ่ายวิชาการโครงการส่วนพระองค์ฯ  สำหรับเก็บรักษาพันธุกรรมพืชที่เป็นเมล็ดและเนื้อเยื่อ และสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานทุกกิจกรรมของโครงการ ปี พ.ศ. ๒๕๓๖  จนถึงปัจจุบัน

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ จึงเป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อสนองแนวพระราชดำริและสืบสานพระราชปณิธานแห่งพระองค์ท่าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจ และทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของพันธุกรรมพืชต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย ก่อให้เกิดกิจกรรมเพื่อให้มีการร่วมคิด ร่วมปฏิบัติที่นำผลประโยชน์มาถึงประชาชนชาวไทย ตลอดจนให้มีการจัดทำระบบข้อมูลพันธุกรรมพืช ให้แพร่หลายสามารถสื่อถึงกันได้ทั่วประเทศ อีกทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมให้สถาบันต่างๆ ที่มีหน้าที่ในการศึกษาพืชพันธุ์ต่างๆ และบุคคลที่สนใจ ได้มีโอกาสปฏิบัติงานศึกษาพืชพันธุ์ต่างๆ ที่มีอยู่จำนวนมากในประเทศไทย ได้ศึกษาวิธีการทางวิทยาศาสตร์ รวบรวม เป็นหลักฐานไว้ และเพื่อเป็นสื่อระหว่างสถาบันต่างๆ บุคคลต่างๆ ที่ทำการศึกษา ให้สามารถารถเข้าร่วมใช้ฐานข้อมูลได้

แผนแม่บทของ อพ.สธ. มีแนวทางในการดำเนินงานบนฐานทรัพยากร ๓ ฐาน คือ ๑) ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากร ๒) ทรัพยากรชีวภาพ และ  ๓) ทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา โดยมีกรอบการดำเนินงาน ๓ กรอบ คือ กรอบการเรียนรู้ กรอบการใช้ประโยชน์ และกรอบการสร้างจิตสำนึก  และมีกิจกรรมสนับสนุนการดำเนินงานในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ๘ กิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมปกปักทรัพยากร กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมทรัพยากร   กิจกรรมปลูกรักษาทรัพยากร  กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากร กิจกรรมศูนย์ข้อมูลทรัพยากร กิจกรรมการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร และกิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร  ทั้งนี้เพื่อดำเนินกิจกรรมเหล่านี้กับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้แก่ เยาวชน บุคคลทั่วไป ให้มีความเข้าใจ ตระหนักในความสำคัญเกิดความปิติ และสำนึกที่จะร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์พืชพรรณ และทรัพยากรของไทยให้คงอยู่เป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าประจำชาติสืบไป

มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรท้องถิ่น และตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องของการคุ้มครองและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพให้มีประสิทธิภาพและอย่างยั่งยืนจึงได้เข้าร่วมสนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๘  เป็นต้นมา โดยยึดมั่นในพระราชดำริ และดำเนินการตามกรอบแผนแม่บทของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เป็นหลัก รวมถึงให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

ข้อมูลอ้างอิงจาก โครงการ อพ.สธ.  (http://www.rspg.or.th)

เมนู